วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หอยเม่น



หอยเม่น หรือเม่นทะเล เป็นหอยทะเลในวงศ์ Diadematidae ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะโดยทั่วไปของเปลือกที่แข็งโดยที่รูปแบบของเปลือกนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกลมสีดำ และที่สำคัญมีหนามแหลมสีดำยื่นออกมารอบตัวคล้ายเม่นด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงเรียกหอยเม่นหรือเม่นทะเลโดยเปลือกนั้นจะทำหน้าที่ในการเป็นเกราะห่อหุ้มป้องกันตัวหอยไว้ หอยเม่นมีชื่อสามัญว่า Long spined sea urchin
ตามปกติแล้วหอยเม่นมักจะอาศัยอยู่ตามแนวปะการังและโขดหินตรงริมหาดทรายใกล้ฝั่งทะเล หอยเม่นเป็นสัตว์อันตรายที่นักดำน้ำทุกคนไม่อยากสัมผัสอย่างแนอน เพราะถ้าหากถูกหนามของหอยเม่นตำเข้า จะรู้สึกปวดมาก เพราะที่หนามของหอยเม่นมีพิษอยู่ครับ หายไปเหยียบเข้าล่ะก็ หนามของมันจะหักคาอยู่ในเนื้อของเราเลยเห็นเป็นจุดดำๆ และดึงออกยาก เพราะผิวของหนามค่อนข้างสาก แม้มีปลายโผล่ ปลายก็จะหักซะก่อน เพราะมันเปราะ

เนื่องจากหนามหอยเม่นมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ มันจะสลายไปเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ทันใจ แช่น้ำอุ่นก็ช่วยให้มันละลายได้เร็วขึ้นครับ สารที่เป็นกรดต่างๆ เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู ก็ช่วยได้ แต่ต้องระวังมันกัดแผลนะครับ บางคนคงเคยได้ยินว่าให้ฉี่ใส่ อันนั้นก็ช่วยได้เหมือนกันครับ
  


    หอยจำพวกนี้มีหลายชนิดด้วยกันและมีชื่อต่างๆกัน มีชุกชุมในเขตร้อนโดยทั่วไป ตามบริเวณที่รกๆ เช่น 
ตามซากโป๊ะ เสาสะพาน หินปะการัง ตามข้าเกาะ ตามซอกและโพรง เป็นอันตรายสำหรับนักดำน้ำ ชนิดสำคัญที่พบในบ้านเราคือ หอยเม่นชนิดขนยาว(Long Spined หรือ Black Urchin) หอยเม่นชนิดนี้มีมากที่สุดในย่านทะเลเขตร้อน มีหนามอยู่ทั่วตัวเหมือนเม่น เป็นขนยาวประมาณ30 เซนติเมตร ขนนั้นแข็งแต่เปราะ ใช้สำหรับทำอันตรายได้ น้ำพิษของหอยเม่นเข้าใจว่าอยู่ในท่อของหนามที่แหลมคมเหมือนเข็ม มีลักษณะเปราะและหักง่ายมากที่สุดและอยู่ที่ Pedicellariae ซึ่งอยู่ในระหว่างหนามแหลมของมัน เมื่อถูกหนามแหลมของหอยเม่นตำเข้าไปโดยบังเอิญ เนื่องจากหนามของมันเป็นโปรตีน เปราะ และฝังติดแน่น เราไม่สามารถเอาออกได้หมด จะมีอาการคล้ายเข็มแทงหรือตำ แต่การแทงหรือตำนั้นมิได้ตำเพียงอันเดียวการตำจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันนับสิบอัน รอยที่ถูกตำจะแดง บวม ปวด และหนามทุกอันจะหักคาอยู่ในเนื้อ เป็นจุดดำๆ อยู่ทั่วไป ต่อไปจะเกิดอาการชาบริเวณนั้น นายไม่รุนแรงอาการปวดจะหายไปภายในเวลา 30 นาที แต่อาการชาจะมีอยู่ต่อไปถึง 6 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ในรายที่รุนแรงมากมีอาการปวดมาก ผู้ป่วยแพ้ เกิดอาการชักกระตุก และช็อค อาจถึงตายได้


การรักษา
รักษาอาการปวด โดยใช้ยาแก้ปวด พยายามเอาหนามออกถ้าทำได้ ถ้าไม่สามารถเอาออกได้ให้ใช้ของแข็งทุบให้นามที่อยู่ในเนื้อแตกออกเป็นเศษเล็ก เพื่อจะทำให้ละลายหายไปได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยปรกติหนามที่หักคาอยู่นั้น จะสลายตัวไปเองภายใน 24-28 ชั่วโมง แล้วอาการก็หายไป ในรายที่รุนแรงมาก เกิดอาการช็อค 
ก็รักษาไปตามอาการ เหมือนถูกพิษสัตว์ทะเลอื่นๆ  


การป้องกัน
หอยเม่นพวกนี้ชอบอาศัยอยู่ตามซอก โพรง ใกล้หินปะการังข้างเกาะ ดังนั้นการเคลื่นไหวเข้าไปในแหล่งเหล่านี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ บางครั้งเราจะเห็นหอยเม่นชัดเจนรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใต้น้ำเห็นเป็นสีม่วงปนดำ มีขนเป็นหนามแหลมอยู่ทั่วตัว ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรจับด้วยมือเปล่า นอกจากใช้ปากคีบขนาดยาว การเดินขึ้นหาดทรายหรือเกาะ ในกรณีที่เรือเล็กไม่สามารถเทียบเข้าหาดได้ นับว่าเป็นอันตรายมาก ควรจะระวังอย่างมาก
แม้ว่าสวมรองเท้ายางก็ไม่สามารถป้องกันได้ แน่นอน เพราะหนามนั้นแหลมคมอาจแทงทะลุขึ้นมาได้  



                                 ข้าวหน้าไข่หอยเม่นแบบพรีเมี่ยมทีเด็ด ชามยักษ์ มีขิงและผักไว้กินแก้เลี่ยนด้วย

   หอยเม่นสามารถนำมารับประทานได้ คนญี่ปุ่นที่ชื่นชอบปลาดิบมาเห็นหอยเม่นเมืองไทยมีเยอะแยะร้องว้าวเลย ให้คนเรือลงไปเก็บมาใส่หลัว เขย่าๆให้หนามมันหักหมด แล้วใช้ช้อนเคาะเอาเหมือนตอกไข่ เปิดด้านบนออกมาแล้วตักไข่สีเหลืองๆออกมา ตัวนึงมีนิดเดียว บางตัวก็ไม่มีเลยครับ ต้องเก็บซักยี่สิบตัวได้มั้งถึงจะได้ไข่มันถ้วยนึง หรือจะนำไปทอดพอเหลืองๆก็ได้แต่คนญี่ปุ่นนิยมกินดิบๆ แต่ถ้าจะแบบไทยๆก็ต้องเอาไข่มายำแบบไทยๆนี่แหละ น้ำปลามะนาวพริกขี้หนูหอมแดงซอย
   ไข่หอยเม่นถ้าไม่สด จะขม และผิวดูแห้งๆ แถมยังคาวอีกด้วย ถ้าใครยังไม่เคยกิน ขอแนะนำให้ลองด่วน แต่ในเมืองไทยหาสดๆกินยากนอกจากจะเป็นร้านที่สั่ง Import มาทางเครื่องบิน ซึ่งราคาก็จะสูงมาก
ยังนึกเสียดายที่สมัยก่อนไม่กล้าลองกิน เป็นเพราะกลัวแพ้อาหารทะเลด้วย ปกติแพ้ กุ้ง ปู ปลาหมึก อยู่แล้ว...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
จาก Internet
medinfo2.psu.ac.th
http://nattach.ai

โมลา โมลา ปลาประหลาดผู้น่ารัก...วินิจ รังผึ้ง


เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ผมเขียนเล่าเรื่องปลาเก๋าและปลาหมอทะเลให้อ่านกันนั้น มีข้อมูลความผิดพลาดเคลื่อนบางประการที่ต้องขออภัยท่านผู้อ่านและขอนำข้อมูลที่ถูกต้องมาเรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันในสัปดาห์นี้ ซึ่งข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปก็ตรงที่ผมระบุว่าปลาหมอทะเลได้ชื่อเป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเลเพราะบางตัวมีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัมนั้น ความจริงยังมีปลากระดูกแข็งอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดมหึมาและใหญ่โตกว่าปลาหมอทะเล ปลาชนิดนี้ก็คือปลาพระอาทิตย์หรือปลาโมลา โมลา (Mola Mola ) ปลาที่มีรูปร่างหน้าตาประหลาดไม่เหมือนปลาอื่นใด ซึ่งบางตัวมีขนาดใหญ่และหนักมากถึง 2,300 กิโลกรัม หรือหนักกว่า 2 ตันเลยทีเดียว เพียงแต่ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ใต้ทะเลลึกและน้ำทะเลค่อนข้างเย็น จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในท้องทะเลไทย และทำให้เราไม่ค่อยคุ้นเคยหรืออาจจะมองข้ามเจ้าปลายักษ์ใหญ่หน้าตาประหลาดตัวนี้ไป
       

       โมลา โมล่า (Mola Mola) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้ แต่ปลายักษ์ใหญ่หน้าตาประหลาดนี้ก็ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อที่แต่ละท้องถิ่นเรียกขานแตกต่างกันไป เช่นภาษาอังกฤษเรียกว่าปลาพระอาทิตย์ Sun fish หรือ Ocean Sun fish ซึ่งอาจจะเรียกตามลักษณะรูปร่างกลมๆใหญ่ๆ หรืออาจจะเพราะปลาชนิดนี้บางครั้งชอบขึ้นมาลอยตัวอาบแดดบริเวณผิวน้ำเพื่อขับไล่ปรสิตที่เกาะติดตามตัว ปลาชนิดนี้เขามีชื่อว่า Ocean Sunfish หรือ Mola Mola เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อไทยไม่มีเพราะไม่พบในน่านน้ำของไทยเรา เลยเรียกกันว่าโมลา โมล่า ทับศัพท์ เขาเป็นปลาประเภทที่มีกระดูกแข็ง (bony fish) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 1 ตัน ขนาดพอๆ กับตัวคน ความยาวเฉลี่ยประมาณเกือบ เมตร ใหญ่สุดที่เคยบันทึกไว้ 3.3 เมตร ใหญ่ไม่ใช่เล่นทีเดียว เป็นปลาอยู่ใน order เดียวกับ pufferfish หรือปลาปักเป้า แต่ว่ารูปร่างประหลาดกว่าปลาทั่วไป ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสเรียกปลาพระจันทร์ (Poisson lune) ชาวอิตาลีก็เรียกปลาพระจันทร์ (Luna) เช่นกัน สาเหตุที่เรียกคงไม่ได้มาจากปลาชนิดนี้ชอบขึ้นมาอาบแสงจันทร์แต่คงเพราะรูปร่างที่กลม ๆ ผิวนวล ๆ เนียน ๆ เหมือนพระจันทร์มากกว่า นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นชื่อแปลก ๆ ตามลักษณะของปลาชนิดนี้เช่นปลาหัว เพราะมองดูคล้ายกับมีแต่ส่วนหัว ส่วนลำตัวและส่วนหางถูกตัดออกไป บางประเทศอย่างชาวเยอรมันเรียกแปลกกว่านั้นไปอีกว่า “หัวที่ว่ายน้ำ” (Schwimmender kopf) ซึ่งไม่ว่าจะเรียกอะไร หรือรูปร่างหน้าตาจะแปลกประหลาดพิสดารอย่างไร แต่ก็รับประกันได้ว่าสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเลชนิดนี้เป็นปลาครับ และไม่ใช่เป็นปลากระดูกอ่อนอย่างปลากระเบนที่ตัวกลม ๆ กว้าง ๆ คล้ายกัน แต่ปลาโมลา โมล่านี้เป็นปลากระดูกแข็ง และมีคุณสมบัติเพียบพร้อมในความเป็นปลาอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าปลาอื่นจะดูถูกมิได้เลยทีเดียว
       

       โมลา โมลา นั้นเป็นปลาในวงศ์โมลิดี ( Molidae ) ในลำดับเทเทราโอดอนทิฟอร์เมส (Tetraodontiformes) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับปลาปักเป้าและปลาวัว แต่ปลาโมลา โมลา ก็มีวิวัฒนาการเฉพาะตัวโดยพัฒนาครีบหลังให้มีขนาดใหญ่ตั้งยาวขึ้นไปข้างบน และพัฒนาครีบก้นให้มีขนาดใหญ่ยื่นยาวลงมาด้านล่างลำตัว โมลา โมลา จะใช้ครีบครีบใหญ่ยาวทั้งสองโบกไปมาเพื่อว่ายน้ำ ในขณะครีบข้างลำตัวทรงโค้งจะมีขนาดเล็กและบาง ๆ เท่านั้นซึ่งแทบจะไม่ใช้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนครีบหางจะหดสั้นเข้ามาติดตอนท้ายของลำตัวที่หดสั้นลักษณะเหมือนปลาที่มีแต่ส่วนหัว ไม่มีส่วนลำตัวและส่วนหางเหมือนปลาทั่ว ๆ ไป โมลา โมลา เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด แต่จะมีหนังหนาหยาบและยืดหยุ่น ซึ่งหนังที่หนาและเหนียวเป็นเสมือนเกราะหุ้มตัวไปตามอายุ เพราะปลาโมลา โมลา บางตัวมีหนังหนาถึง 15 มิลลิเมตรเลยทีเดียว แม้นจะเป็นปลาที่หนังหนาและหนังเหนียว อีกทั้งอวัยวะภายในบางส่วนยังมีพิษคล้าย ๆ กับเครื่องในปลาปักเป้า แต่เจ้าปลาโมลา โมลา ก็ยังมีภัยจากการล่าของปลาใหญ่อย่างฉลาม และปลาวาฬเพชฌฆาต ซึ่งแม้นโมลา โมลา จะได้ชื่อว่าเป็นปลาที่วางไข่ครั้งละเป็นจำนวนมากที่สุดในท้องทะเลคือประมาณครั้งละ 300 ล้านฟอง แต่จำนวนไข่ที่มากมายมหาศาลนั้นก็จะเหลือรอดมาเป็นปลาโมลา โมลา ขนาดใหญ่ได้เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น




ปลาโมลา โมลายังถูกรบกวนจากบรรดาปรสิตที่เกาะกินเลือดทำให้ปลาอ่อนแอและเกิดโรคภัยขึ้นได้ เจ้าปลายักษ์ใหญ่รูปร่างประหลาดชนิดนี้จึงชอบที่จะว่ายเข้ามาใกล้แนวปะการังบริเวณที่มีปลาขนาดเล็กช่วยทำความสะอาดให้ ช่วยตอดกินปรสิตที่เกาะตามลำตัว ซึ่งปลาที่ชอบตอดกินปรสิตบนตัวปลาใหญ่นั้นก็เช่นปลาโนรี ปลานกขุนทอง ซึ่งปลาโมลา โมลาส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบอาศัยอยู่ในน้ำลึก น้ำเย็นซึ่งมีรายงานว่ามันสามารถลงไปอยู่ในน้ำลึกได้ถึง 400 เมตรหรือกว่า 1,000 ฟุตเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้นักดำน้ำมักจะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบเจอเจ้าปลาโมลา โมลา นอกจากช่วงเวลาที่มันขึ้นมาในระดับน้ำที่ตื้นราว 20-30 เมตร เพื่อลอยตัวให้ปลาขนาดเล็กทำความสะอาดเก็บกินปรสิตตามลำตัวเท่านั้น
       

       น่าเสียดายที่ตามแหล่งดำน้ำในทะเลไทยของเราไม่มีแหล่งใดที่จะพบเห็นเจ้าปลาโมลา โมลาได้ ไม่เช่นนั้นคงไปดำดูกันซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นแน่ เพราะรูปร่างกลมมนขนาดใหญ่ ปากเล็กๆน่ารัก กริยาท่าทางการว่ายน้ำที่แปลกแตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญเป็นปลาขนาดยักษ์ใหญ่ ลำตัวกว้างเป็นเมตรสองเมตร หนักเป็นตัน ๆ การได้พบได้เห็นใต้ผืนน้ำ ได้ว่ายน้ำเคียงคู่อยู่ข้าง ๆ คงเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย แหล่งดำน้ำที่ใกล้ที่สุดซึ่งนักดำน้ำบ้านเรานิยมเดินทางไปดำดูก็คือที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปลาโมลา โมลา จะขึ้นมาลอยตัวให้เห็นกันในระดับน้ำตื้นที่พอจะดำลงไปดูได้ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสเดินทางไปดำดู จึงได้ขอภาพจากคุณนัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำสุดยอดฝีมือคนหนึ่งของเมืองไทยมาลงให้ท่านผู้อ่านได้ชมกัน แต่ใช่ว่าปลาโมลา โมลา จะไม่มีในท้องทะเลไทย เพราะเรายังพบเห็นซากเจ้าปลาโมลา โมลา ที่ติดอวนเรือประมงแล้วถูกนำมาสตัฟให้ชมกันอย่างที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสนหรือที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่านั่นอาจจะเป็นปลาโมลา โมลา ที่ถูกจับจากนอกน่านน้ำทะเลไทยแล้วนำมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือประมงในประเทศไทย แต่จากรายงานการพบเห็นล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2549 นั้นก็ยืนยันได้ว่ามีเรือประมงลากอวนเจ้าปลาโมลา โมลา ติดขึ้นมาได้จากแถวใกล้ ๆ เกาะเต่า ซึ่งขึ้นมาก็ยังเป็นๆ อยู่แต่ไม่นานก็ตาย นั่นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามีปลาโมลา โมลา ในทะเลไทยอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าเสียดายและน่าเสียใจก็คือนั่นอาจจะเป็นโมลา โมลา ตัวสุดท้ายของทะเลไทยก็อาจเป็นไปได้

       
       ผมเองเคยพบเห็นเจ้าปลาโมลา โมลา ตัวจริง ๆ ตัวเป็น ๆ ในชีวิตครั้งหนึ่งก็ที่อควาเรียมเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่นั่นเป็นอควาเรียมขนาดใหญ่มาก ใหญ่ขนาดจับเอาปลาฉลามวาฬไปไว้ในตู้ให้คนชม และมีเจ้าปลาโมลา โมลา ผู้น่ารักน่าสงสารถูกจับไปขังไว้ให้ชมด้วย ซึ่งในตู้ของเจ้าโมลา โมลานั้น เขาต้องมีแผ่นพลาสติกหนาไสกางกั้นระหว่างปลากับผนังตู้ที่ทำจากอะคริลิกใส เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าปลาโมลา โมลา ผู้มีปากเล็ก ๆ บอบบางว่ายชนผนังจนปากเจ่อ ซึ่งแม้นจะได้ดูได้เห็นเจ้าปลายักษ์ใหญ่ผู้น่ารักตัวเป็น ๆ แต่ก็รู้สึกหดหู่ที่ได้เห็นมันว่ายวนไปวนมาและต้องถูกกักขังอยู่ในตู้แคบ ๆ แทนที่จะมีอิสระเสรีอยู่ในท้องทะเลกว้าง ดำดิ่งลงไปในทะเลลึกได้อย่างที่มันควรจะเป็น...





ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :
14 มีนาคม 2555 18:04 น.

ภาพจาก Internet

ปลาเก๋าและปลาหมอทะเล...วินิจ รังผึ้ง





   ใต้ท้องทะเลนั้นนอกจากจะมีปลาพยาบาลแล้ว ก็ยังมีปลาหมอทะเลอีกด้วยครับ ซึ่งปลาหมอทะเลนั้นเป็นปลาขนาดใหญ่ที่ได้ชื่อว่าเป็นปลากระดูกแข็งที่ใหญ่ที่สุดใต้ท้องทะเลเลยทีเดียว เพราะเมื่อโตเต็มที่อาจจะมีความยาวได้ถึงกว่า 2 เมตร หนักถึงประมาณ 400 กิโลกรัมเลยทีเดียว ซึ่งนับเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่และน่าเกรงขามในใต้ท้องทะเล
     แต่บางคนอาจจะแย้งว่าแล้วปลาใหญ่อย่างฉลามวาฬ ปลากระเบนราหูที่มีขนาดใหญ่กว่า มีน้ำหนักเป็นตันล่ะจะไม่ใหญ่กว่าปลาหมอทะเลหรือ ก็ต้องยอมรับว่าปลาทั้ง 2 ชนิดนั้นอาจจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาหมอทะเลครับ แต่เจ้ายักษ์ใหญ่ใต้ท้องทะเลทั้ง 2 ชนิดทั้งปลาฉลามวาฬและปลากระเบนราหูนั้นเป็นปลาตระกูลฉลามและกระเบนซึ่งเป็นปลากระดูกอ่อน ไม่ใช่ปลากระดูกแข็ง ดังนั้นเจ้าปลาหมอทะเลจึงครองแชมป์เป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใต้ท้องทะเล

                                       
                                          ปลาเก๋าทอด(ภาพจาก Internet)
       แม้นบางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาหมอทะเลเพราะเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ และชอบอาศัยอยู่ตามใต้ท้องทะเลลึก ใต้ผาหิน เพิงถ้ำใต้น้ำ แต่หากจะบอกว่าแท้ที่จริงแล้วปลาหมอทะเลนั้นไม่ใช่อื่นไกล แต่เป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาเก๋า หรือปลากะรังที่มีมากมายหลากหลายในท้องทะเล และหลาย ๆ ท่านก็อาจจะคุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตาของปลาในตระกูลนี้และบางท่านก็อาจจะคุ้นลิ้น เพราะเป็นปลาที่เนื้อมีรสชาติอร่อย เนื้อแน่นหวาน ผู้คนนิยมนำมาทำอาหารไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มปลาเก๋า ปลาเก๋าต้มยำ ปลาเก๋าราดพริก ปลาเก๋าสามรส ปลาเก๋าจึงนับเป็นปลายอดนิยมระดับต้น ๆ เลยทีเดียว
       
                                                  ต้มยำปลาเก๋า(ภาพจาก Internet)
       ปลาเก๋า หรือปลากะรัง ( Groupers )นั้นนับเป็นปลาที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ มีขนาดตั้งแต่ลำตัวยาว 50 เซนติเมตรไปจนถึงตัวขนาดใหญ่เกือบ 3 เมตรเลยทีเดียว อีกทั้งปลาในกลุ่มนี้ยังรวมเอาปลาทอง (Basslets หรือ Anthias ) ที่มีขนาดเล็กจิ๋ว มีสีสันสวยงามลำตัวขนาดยาว 6-10 เซนติเมตรเข้าไปด้วย นั่นจึงทำให้มันเป็นครอบครัวที่มีเครือญาติมากมายในท้องทะเล โดยอาศัยอยู่ตั้งแต่น้ำกร่อยตามปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ผืนทรายใต้น้ำใกล้ชายฝั่ง ลงไปจนถึงแนวปะการัง กองหิน ถ้ำใต้ทะเลลึก ตามซากเรือจม หรือกองวัสดุใต้ท้องทะเล เป็นปลาที่กินอาหารเก่ง กินตั้งแต่ กุ้ง หอย ปู ปลา หรือสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร โดยปลาในกลุ่มปลาเก๋าหรือปลาหมอทะเลนั้นสามารถจะเปลี่ยนเพศได้ โดยสามารถจะเปลี่ยนเพศจากปลาเพศเมียเป็นปลาเพศผู้ได้เมื่อมันโตเต็มที่ ซึ่งความสามารถในการเปลี่ยนเพศได้ก็เป็นคุณสมบัติที่ช่วยให้ปลาในกลุ่มนี้สามารถจะดำรงความหลากหลายของสายพันธุ์และจำนวนของสมาชิกให้คงอยู่คู่กับท้องทะเลได้ยาวนานจนถึงปัจจุบัน




ด้วยเป็นปลาที่มีรูปร่างอ้วนป้อมแข็งแรงบึกบึน มีลักษณะโครงสร้างของกระดูกที่แข็งแกร่ง มีปากใหญ่ ขากรรไกรกว้าง มีฟันขนาดเล็กละเอียดจำนวนมากอยู่ในปาก ปลาในกลุ่มปลาเก๋าและปลาหมอทะเลจึงกินอาหารด้วยการอ้าปากดูดฮุบเหยื่อด้วยแรงมหาศาล โดยจะทำการกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัว และเป็นปลาที่กินอาหารเก่ง เรียกว่ากินไม่ค่อยเลือกขอให้เป็นเหยื่อที่มีขนาดเล็กกว่าที่เหมาะสมกับการฮุบกลืนลงไปในคอ ด้วยคุณสมบัติของการกินอาหารเก่ง โตเร็ว ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และเป็นปลาที่ผู้คนนิยมบริโภค จึงมีการนำลูกปลาเก๋าขนาดเล็กที่จับได้ ไปเลี้ยงต่อในกระชัง ซึ่งเมื่อให้อาหารไม่กี่เดือนก็จะได้ปลาเก๋าที่มีขนาดประมาณ 400-600 กรัม ซึ่งเป็นขนาดพอดีจานอันเป็นขนาดที่ตลาดกำลังต้องการและได้ราคาดีที่สุดเพื่อนำส่งขายตามภัตตาคารหรือร้านอาหารทะเล
       สำหรับนักดำน้ำแล้วปลาในตระกูลปลาเก๋านั้นนับเป็นปลาที่นักดำน้ำคุ้นเคย เพราะสามารถจะพบเห็นได้ในทุกหนทุกแห่งของแหล่งดำน้ำเลยก็ว่าได้ โดยกลุ่มที่มีสีสันที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มปลาทองที่มีตั้งแต่สีชมพูสด สีส้ม สีแดง สีม่วง ซึ่งมักจะอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มนับร้อย ๆ ตัวตามกอปะการังโครงสร้างแข็ง ส่วนปลาเก๋าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อยและพบเห็นได้มากมายในท้องทะเลบ้านเรานั่นก็คือเจ้าปลากะรังแดงจุดน้ำเงิน (Coral rockcod) ซึ่งเป็นปลาเก๋าที่มีสีสันสดใสโดดเด่นและมีมากในแหล่งดำน้ำทางฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งในแหล่งดำน้ำของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็ยังมีให้เห็นไม่มากเหมือนบ้านเรา นอกจากนั้นก็จะเป็นปลาเก๋าที่สีสันไม่ค่อยสดใสนัก โดยส่วนใหญ่จะออกไปในโทนสีน้ำตาล มีลายจุด หรือลายดอกเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สีสันบนลำตัวของมันกลมกลืนกับสีสันของสภาพแวดล้อมในแนวปะการังเช่นปลากะรังลายนกยูง ปลากะรังลายตุ๊กแก กะรังลายเส้นขาว เป็นต้น
       

       ส่วนปลาเก๋าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกโดยมีขนาดลำตัวยาวเกิน 2 ฟุต อย่างปลาเก๋าดอกดำ ปลาเก๋าดอกหมาก ปลาเก๋ายักษ์ ซึ่งปลาเก๋าขนาดใหญ่ ๆ เหล่านี้หลาย ๆ คนก็เรียกมันว่าปลาหมอทะเล ซึ่งบางตัวก็มีขนาดใหญ่ มีความยาวเกิน 1 เมตร ชอบอาศัยอยู่ตามใต้เพิงหิน หรือในโพรงถ้ำ ตามซากเรือจมในพื้นที่ ๆ มีแสงน้อย ซึ่งปลาหมอทะเลขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นที่สนใจของนักดำน้ำเป็นอย่างยิ่ง
       ปลาเก๋าและปลาหมอทะเลนั้น ไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก หรือมีขนาดใหญ่ก็มักจะมีนิสัยรักสงบ อาศัยอยู่เป็นที่เป็นทาง และมักจะหวงถิ่น โดยหากมีปลาอื่นว่ายเวียนเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัย ก็มักจะถูกขู่ไล่โดยการลอยตัวนิ่ง ๆ ปักหลักทำท่ากางครีบกางเหงือกให้พองโตน่าเกรงขามเป็นการข่มขู่และเป็นสัญญาณเตือนว่า “อย่ารุกล้ำเข้ามานะ” ซึ่งการลอยตัวนิ่ง ๆ เพื่อเป็นการข่มขู่ หรือการว่ายช้า ๆวนไปวนมาในพื้นที่อยู่ประจำของมันเพื่อประกาศอาณาเขตนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดียิ่งของช่างภาพใต้น้ำที่จะยกกล้องรอคอยกดชัตเตอร์ในช่วงเวลาที่ได้จังหวะงดงาม ในขณะที่ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ลำตัวยาวกว่า 1 เมตร รูปร่างอ้วนตันราวกับตอร์ปิโดนั้นนับเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจเมื่อยามได้พบเห็น ยิ่งบางตัวที่มีความคุ้นเคยกับนักดำน้ำจนยอมให้นักดำน้ำว่ายเข้าไปใกล้ เข้าไปถ่ายภาพได้อย่างใกล้ชิดชนิดที่เอากล้องจ่อได้ด้วยแล้ว ยิ่งนับเป็นเพื่อนใต้ทะเลที่น่ารักยิ่งนัก
     
  
       ด้วยความเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่และเชื่องต่อผู้คน อีกทั้งว่ายน้ำเชื่องช้าหรือชอบลอยตัวนิ่งๆอยู่กับที่ ปลาหมอทะเลขนาดใหญ่จึงเป็นที่นิยมของบรรดาสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหลายที่กำลังฮิตอยู่ในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะมีขนาดใหญ่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ปลาหมอทะเลเหล่านี้ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารเก่ง โตเร็ว อายุยืนและสามารถจะเพิ่มขนาดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นั่นจึงทำให้มีคำสั่งซื้อจากบรรดาสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีชาวประมงบางรายทดลองนำลูกพันธุ์ปลาหมอทะเลที่จับได้จากลอบดักปลาหรืออวนจับปู มาเลี้ยงในกระชังใช้เวลาเลี้ยงปีกว่า ๆ ก็จะได้ปลาหมอทะเลที่มีขนาด 10 -15 กิโลกรัม สามารถจะส่งขายเป็นปลาเลี้ยงโชว์ได้ ซึ่งก็เป็นนับเรื่องที่น่าห่วงใยสำหรับเพื่อนตัวใหญ่ใต้ทะเลของผม เพราะนอกจากจะต้องคอยเอาตัวรอดจากการล่าไปแขวนตามร้านข้าวต้มปลา ร้านอาหารทะเลแล้ว วันนี้ก็ยังต้องคอยหนีเอาตัวรอดจากบรรดาสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำอีกทางหนึ่งด้วย...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :29 กุมภาพันธ์ 2555 16:39 น.