วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

โมลา โมลา ปลาประหลาดผู้น่ารัก...วินิจ รังผึ้ง


เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ผมเขียนเล่าเรื่องปลาเก๋าและปลาหมอทะเลให้อ่านกันนั้น มีข้อมูลความผิดพลาดเคลื่อนบางประการที่ต้องขออภัยท่านผู้อ่านและขอนำข้อมูลที่ถูกต้องมาเรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบกันในสัปดาห์นี้ ซึ่งข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปก็ตรงที่ผมระบุว่าปลาหมอทะเลได้ชื่อเป็นปลากระดูกแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเลเพราะบางตัวมีน้ำหนักถึง 400 กิโลกรัมนั้น ความจริงยังมีปลากระดูกแข็งอีกชนิดหนึ่งที่มีขนาดมหึมาและใหญ่โตกว่าปลาหมอทะเล ปลาชนิดนี้ก็คือปลาพระอาทิตย์หรือปลาโมลา โมลา (Mola Mola ) ปลาที่มีรูปร่างหน้าตาประหลาดไม่เหมือนปลาอื่นใด ซึ่งบางตัวมีขนาดใหญ่และหนักมากถึง 2,300 กิโลกรัม หรือหนักกว่า 2 ตันเลยทีเดียว เพียงแต่ปลาชนิดนี้ชอบอยู่ใต้ทะเลลึกและน้ำทะเลค่อนข้างเย็น จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในท้องทะเลไทย และทำให้เราไม่ค่อยคุ้นเคยหรืออาจจะมองข้ามเจ้าปลายักษ์ใหญ่หน้าตาประหลาดตัวนี้ไป
       

       โมลา โมล่า (Mola Mola) เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้ แต่ปลายักษ์ใหญ่หน้าตาประหลาดนี้ก็ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อที่แต่ละท้องถิ่นเรียกขานแตกต่างกันไป เช่นภาษาอังกฤษเรียกว่าปลาพระอาทิตย์ Sun fish หรือ Ocean Sun fish ซึ่งอาจจะเรียกตามลักษณะรูปร่างกลมๆใหญ่ๆ หรืออาจจะเพราะปลาชนิดนี้บางครั้งชอบขึ้นมาลอยตัวอาบแดดบริเวณผิวน้ำเพื่อขับไล่ปรสิตที่เกาะติดตามตัว ปลาชนิดนี้เขามีชื่อว่า Ocean Sunfish หรือ Mola Mola เป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อไทยไม่มีเพราะไม่พบในน่านน้ำของไทยเรา เลยเรียกกันว่าโมลา โมล่า ทับศัพท์ เขาเป็นปลาประเภทที่มีกระดูกแข็ง (bony fish) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฉลี่ยน้ำหนักประมาณ 1 ตัน ขนาดพอๆ กับตัวคน ความยาวเฉลี่ยประมาณเกือบ เมตร ใหญ่สุดที่เคยบันทึกไว้ 3.3 เมตร ใหญ่ไม่ใช่เล่นทีเดียว เป็นปลาอยู่ใน order เดียวกับ pufferfish หรือปลาปักเป้า แต่ว่ารูปร่างประหลาดกว่าปลาทั่วไป ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสเรียกปลาพระจันทร์ (Poisson lune) ชาวอิตาลีก็เรียกปลาพระจันทร์ (Luna) เช่นกัน สาเหตุที่เรียกคงไม่ได้มาจากปลาชนิดนี้ชอบขึ้นมาอาบแสงจันทร์แต่คงเพราะรูปร่างที่กลม ๆ ผิวนวล ๆ เนียน ๆ เหมือนพระจันทร์มากกว่า นอกจากนี้ยังมีชื่ออื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นชื่อแปลก ๆ ตามลักษณะของปลาชนิดนี้เช่นปลาหัว เพราะมองดูคล้ายกับมีแต่ส่วนหัว ส่วนลำตัวและส่วนหางถูกตัดออกไป บางประเทศอย่างชาวเยอรมันเรียกแปลกกว่านั้นไปอีกว่า “หัวที่ว่ายน้ำ” (Schwimmender kopf) ซึ่งไม่ว่าจะเรียกอะไร หรือรูปร่างหน้าตาจะแปลกประหลาดพิสดารอย่างไร แต่ก็รับประกันได้ว่าสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเลชนิดนี้เป็นปลาครับ และไม่ใช่เป็นปลากระดูกอ่อนอย่างปลากระเบนที่ตัวกลม ๆ กว้าง ๆ คล้ายกัน แต่ปลาโมลา โมล่านี้เป็นปลากระดูกแข็ง และมีคุณสมบัติเพียบพร้อมในความเป็นปลาอย่างสมบูรณ์ เรียกว่าปลาอื่นจะดูถูกมิได้เลยทีเดียว
       

       โมลา โมลา นั้นเป็นปลาในวงศ์โมลิดี ( Molidae ) ในลำดับเทเทราโอดอนทิฟอร์เมส (Tetraodontiformes) ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกับปลาปักเป้าและปลาวัว แต่ปลาโมลา โมลา ก็มีวิวัฒนาการเฉพาะตัวโดยพัฒนาครีบหลังให้มีขนาดใหญ่ตั้งยาวขึ้นไปข้างบน และพัฒนาครีบก้นให้มีขนาดใหญ่ยื่นยาวลงมาด้านล่างลำตัว โมลา โมลา จะใช้ครีบครีบใหญ่ยาวทั้งสองโบกไปมาเพื่อว่ายน้ำ ในขณะครีบข้างลำตัวทรงโค้งจะมีขนาดเล็กและบาง ๆ เท่านั้นซึ่งแทบจะไม่ใช้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนครีบหางจะหดสั้นเข้ามาติดตอนท้ายของลำตัวที่หดสั้นลักษณะเหมือนปลาที่มีแต่ส่วนหัว ไม่มีส่วนลำตัวและส่วนหางเหมือนปลาทั่ว ๆ ไป โมลา โมลา เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด แต่จะมีหนังหนาหยาบและยืดหยุ่น ซึ่งหนังที่หนาและเหนียวเป็นเสมือนเกราะหุ้มตัวไปตามอายุ เพราะปลาโมลา โมลา บางตัวมีหนังหนาถึง 15 มิลลิเมตรเลยทีเดียว แม้นจะเป็นปลาที่หนังหนาและหนังเหนียว อีกทั้งอวัยวะภายในบางส่วนยังมีพิษคล้าย ๆ กับเครื่องในปลาปักเป้า แต่เจ้าปลาโมลา โมลา ก็ยังมีภัยจากการล่าของปลาใหญ่อย่างฉลาม และปลาวาฬเพชฌฆาต ซึ่งแม้นโมลา โมลา จะได้ชื่อว่าเป็นปลาที่วางไข่ครั้งละเป็นจำนวนมากที่สุดในท้องทะเลคือประมาณครั้งละ 300 ล้านฟอง แต่จำนวนไข่ที่มากมายมหาศาลนั้นก็จะเหลือรอดมาเป็นปลาโมลา โมลา ขนาดใหญ่ได้เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น




ปลาโมลา โมลายังถูกรบกวนจากบรรดาปรสิตที่เกาะกินเลือดทำให้ปลาอ่อนแอและเกิดโรคภัยขึ้นได้ เจ้าปลายักษ์ใหญ่รูปร่างประหลาดชนิดนี้จึงชอบที่จะว่ายเข้ามาใกล้แนวปะการังบริเวณที่มีปลาขนาดเล็กช่วยทำความสะอาดให้ ช่วยตอดกินปรสิตที่เกาะตามลำตัว ซึ่งปลาที่ชอบตอดกินปรสิตบนตัวปลาใหญ่นั้นก็เช่นปลาโนรี ปลานกขุนทอง ซึ่งปลาโมลา โมลาส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบอาศัยอยู่ในน้ำลึก น้ำเย็นซึ่งมีรายงานว่ามันสามารถลงไปอยู่ในน้ำลึกได้ถึง 400 เมตรหรือกว่า 1,000 ฟุตเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้นักดำน้ำมักจะไม่ค่อยได้มีโอกาสพบเจอเจ้าปลาโมลา โมลา นอกจากช่วงเวลาที่มันขึ้นมาในระดับน้ำที่ตื้นราว 20-30 เมตร เพื่อลอยตัวให้ปลาขนาดเล็กทำความสะอาดเก็บกินปรสิตตามลำตัวเท่านั้น
       

       น่าเสียดายที่ตามแหล่งดำน้ำในทะเลไทยของเราไม่มีแหล่งใดที่จะพบเห็นเจ้าปลาโมลา โมลาได้ ไม่เช่นนั้นคงไปดำดูกันซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นแน่ เพราะรูปร่างกลมมนขนาดใหญ่ ปากเล็กๆน่ารัก กริยาท่าทางการว่ายน้ำที่แปลกแตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญเป็นปลาขนาดยักษ์ใหญ่ ลำตัวกว้างเป็นเมตรสองเมตร หนักเป็นตัน ๆ การได้พบได้เห็นใต้ผืนน้ำ ได้ว่ายน้ำเคียงคู่อยู่ข้าง ๆ คงเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย แหล่งดำน้ำที่ใกล้ที่สุดซึ่งนักดำน้ำบ้านเรานิยมเดินทางไปดำดูก็คือที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปลาโมลา โมลา จะขึ้นมาลอยตัวให้เห็นกันในระดับน้ำตื้นที่พอจะดำลงไปดูได้ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี ผมเองก็ยังไม่มีโอกาสเดินทางไปดำดู จึงได้ขอภาพจากคุณนัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำสุดยอดฝีมือคนหนึ่งของเมืองไทยมาลงให้ท่านผู้อ่านได้ชมกัน แต่ใช่ว่าปลาโมลา โมลา จะไม่มีในท้องทะเลไทย เพราะเรายังพบเห็นซากเจ้าปลาโมลา โมลา ที่ติดอวนเรือประมงแล้วถูกนำมาสตัฟให้ชมกันอย่างที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำบางแสนหรือที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่านั่นอาจจะเป็นปลาโมลา โมลา ที่ถูกจับจากนอกน่านน้ำทะเลไทยแล้วนำมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือประมงในประเทศไทย แต่จากรายงานการพบเห็นล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2549 นั้นก็ยืนยันได้ว่ามีเรือประมงลากอวนเจ้าปลาโมลา โมลา ติดขึ้นมาได้จากแถวใกล้ ๆ เกาะเต่า ซึ่งขึ้นมาก็ยังเป็นๆ อยู่แต่ไม่นานก็ตาย นั่นเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ามีปลาโมลา โมลา ในทะเลไทยอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าเสียดายและน่าเสียใจก็คือนั่นอาจจะเป็นโมลา โมลา ตัวสุดท้ายของทะเลไทยก็อาจเป็นไปได้

       
       ผมเองเคยพบเห็นเจ้าปลาโมลา โมลา ตัวจริง ๆ ตัวเป็น ๆ ในชีวิตครั้งหนึ่งก็ที่อควาเรียมเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งที่นั่นเป็นอควาเรียมขนาดใหญ่มาก ใหญ่ขนาดจับเอาปลาฉลามวาฬไปไว้ในตู้ให้คนชม และมีเจ้าปลาโมลา โมลา ผู้น่ารักน่าสงสารถูกจับไปขังไว้ให้ชมด้วย ซึ่งในตู้ของเจ้าโมลา โมลานั้น เขาต้องมีแผ่นพลาสติกหนาไสกางกั้นระหว่างปลากับผนังตู้ที่ทำจากอะคริลิกใส เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าปลาโมลา โมลา ผู้มีปากเล็ก ๆ บอบบางว่ายชนผนังจนปากเจ่อ ซึ่งแม้นจะได้ดูได้เห็นเจ้าปลายักษ์ใหญ่ผู้น่ารักตัวเป็น ๆ แต่ก็รู้สึกหดหู่ที่ได้เห็นมันว่ายวนไปวนมาและต้องถูกกักขังอยู่ในตู้แคบ ๆ แทนที่จะมีอิสระเสรีอยู่ในท้องทะเลกว้าง ดำดิ่งลงไปในทะเลลึกได้อย่างที่มันควรจะเป็น...





ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th :
14 มีนาคม 2555 18:04 น.

ภาพจาก Internet

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น