วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การกัดเซาะชายฝั่งคือเรื่องใหญ่

  
  ท่านที่เคยผ่านไปตามชายหาดริมอ่าวไทยในช่วงประมาณไม่ถึงสิบปีมานี้ คงจะได้เห็นภาพชายหาดถูกกัดเซาะเกือบทุกจังหวัด ตั้งแต่นราธิวาสใต้สุดขึ้นไปทางทิศเหนือแล้ววกกลับไประยองจนถึงตราด สภาพก็คล้ายๆ กับภาพที่ผมนำมาเสนอข้างต้นนี้ โปรดพิจารณาภาพนี้อย่างละเอียดนะครับ
       
        ชายฝั่งอ่าวไทยของเรายาวเกือบสองพันกิโลเมตร ถ้ามันถูกกัดเข้าไปสัก 20 เมตร ก็ทำให้ประเทศเราต้องสูญเสียพื้นที่ไปประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร ไม่น้อยเลยใช่ไหมครับ มากกว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่ถูกกัมพูชายึดครองไปเกือบสิบเท่าตัว
       
       ผมไม่ได้บอกนะครับว่าเรื่องปัญหาชายแดนไม่สำคัญ สำคัญครับ สำคัญมากด้วย แต่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเราจะปล่อยไว้อย่างนี้ก็ไม่ได้
       
       คำถามคือมีพรรคการเมืองใดมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องการกัดเซาะอย่างไรหรือไม่?

       
        ผมได้รับเชิญจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ชุดติดตามและประเมินผล) ให้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมขออนุญาตนำบางส่วนมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ แต่ด้วยเนื้อที่และขีดจำกัดในการสื่อสารผมจะพยายามอธิบายด้วยภาพเป็นหลัก ผมจะใช้ทั้งประสบการณ์ในวัยเด็กและวิชาการมาประกอบกัน ไม่ยากอย่างที่บางคนคิดนะครับ
       
       ภาพนี้ถ่ายที่ชายฝั่งบริเวณบ้านบ่อคณฑี ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช บ้านหลังที่ผมเกิดก็อยู่ริมชายฝั่งทะเลห่างจาก “รอ” ไปทางล่างของภาพไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร
        ภาพนี้ถ่ายจากเครื่องร่อนสูงประมาณ 50-60 เมตร เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว โดยทีมงานของ รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตรพงศ์

       
       ที่เห็นเป็นแนวยื่นลงไปในทะเลและมีคำว่า “รอ” เป็นสิ่งก่อสร้างทำด้วยซีเมนต์ขนาดใหญ่ กว้างสัก 4 เมตร ยาว 80 เมตร เห็นจะได้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อไม่ให้ทรายไปทับถมปิดทางระบายน้ำจากแผ่นดินลงสู่ทะเล
       
        มีคำถาม 2 ข้อ คือ (1) ทรายที่มาทับถมทางระบายน้ำนี้มาจากไหนกัน และ (2) เกิดอะไรขึ้นหลังจากที่มี “รอ” ขึ้นแล้ว
       
       คำตอบของข้อ (1) คือ ทรายพวกนี้ถูกกระแสน้ำพามาจากทางทิศใต้ของบริเวณนี้ คือมาจากจังหวัดสงขลาซึ่งอยู่ทางล่างของภาพ
       
       ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องเข้าใจระบบของกระแสน้ำในอ่าวไทยซึ่งมี 3 กระแสหลัก คือ
       
       (1) จากน้ำขึ้น-น้ำลง วันละ 2 ครั้ง อิทธิพลนี้มีการกัดเซาะชายฝั่งน้อยมากเมื่อเทียบกับกระแสน้ำชนิดอื่น
       
       (2) จากกระแสลมที่ทำให้เกิดคลื่นน้ำกระทบฝั่ง โดยปกติลมในอ่าวไทยก็มีหลายชนิด เช่น ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ตุลาคมถึงมกราคม) คลื่นพวกนี้จะพัดพาเอาทรายไปทิศหนึ่ง แต่พอถึงบางช่วง (มีนาคม) ก็มีลมพัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ คลื่นก็มุ่งไปอีกทางหนึ่ง เป็นต้น


       
       ในสายตาของคนทั่วไปมักเข้าใจว่า กระแสน้ำที่เกิดจากคลื่นประเภทนี้ทำให้เกิดการกัดเซาะมาก เพราะเราเห็นต้นไม้ล้มลงไปกับตา ทรายก็หายไปเห็นๆ แต่ความจริงคือทรายหายไปจาก “สายตาเรา” จริง แต่น้ำได้นำทรายจำนวนนี้ไปกองเป็น “หาดนอกชายฝั่ง” ห่างไปจากเดิมเพียง 40-50 เมตรเท่านั้น พอฤดูกาลเปลี่ยน ทรายพวกนี้ก็จะถูกพัดกลับขึ้นมาเป็นหาดให้ได้เราเห็น ให้เราได้เหยียบอีก
       
       อย่างไรก็ตาม การกัดเซาะชายฝั่งก็เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ผมจำความได้ บางปีกัดก็มาก จนต้นมะพร้าวล้มเป็นแถว บางปีกัดน้อยหรือไม่กัดเลย และบางปีกลับงอกเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
       
       (3) กระแสน้ำที่เกิดจากรูปทรงเรขาคณิตของชายฝั่ง หรือเมื่อมีการก่อสร้างวัตถุรูปทรงที่แข็งตัวลงไปในทะเล (เช่นแท่งซีเมนต์ในรูป) หรือการก่อสร้างท่าเรือ เป็นต้น ก็จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง
       
       กลับไปดูรูปบนอีกครั้งครับ หลังจากมีการสร้าง “รอ” ยื่นออกไปในทะเล กระแสน้ำก็เปลี่ยนทิศทาง แล้วก็ไปกัดเอาทรายชายฝั่งบริเวณที่อยู่ทางเหนือของภาพ ทรายที่เคยเคลื่อนตัวไปได้อย่างเสรี ก็ถูกกักไว้ตรงทางทิศใต้ของ “รอ” จะเคลื่อนไปทดแทนทางตอนเหนือก็ไม่ได้ ชายฝั่งที่อยู่ทางเหนือจึงถูกกัดอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีทรายใหม่มาทดแทน คล้ายกับบัญชีธนาคารที่มีแต่ถอนแต่ไม่มีการฝากเพิ่มเลย
       
       เมื่อเป็นดังนี้ ทางราชการก็แก้ปัญหาด้วยการสร้าง “เขื่อนกันคลื่น” ดังที่เห็นในภาพ แต่ทันทีที่หมดเขตเขื่อนกันคลื่นแล้ว ทางเหนือขึ้นไปก็จะถูกกัดอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยไปตลอดชายฝั่ง
       
       รูปข้างล่างนี้ผมยืนถ่ายบนชายหาด เมื่อเดือนเมษายน 2553 ภาพที่เห็นจึงไม่ชัดเจนเหมือนถ่ายจากเครื่องร่อน แต่ก็เป็นบริเวณเดียวกัน



 โปรดสังเกตกองทรายบริเวณใกล้ๆ รอ ที่เคยสะสมมานานอย่างต่อเนื่องนับสิบปีได้หายไปแล้ว แต่กลับมีกองหินขนาดไม่ใหญ่มากนักเข้ามาแทนที่ ท่านผู้อ่านคงจะมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในเมื่อทรายในรูปบนอยู่มาได้อย่างยาวนาน แต่จู่ๆ ก็หายไปอย่างรวดเร็ว
       
       คำตอบอยู่ที่รูปล่างสุดครับ คือประมาณปี 2551 มีการสร้างกองหินขนาดใหญ่เป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 50 เมตร ห่างออกไปจากริมน้ำชายหาดประมาณ 40-50 เมตร จำนวนหลายร้อยกอง


    ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อมีสิ่งก่อสร้างที่แข็งลงไปในทะเล กระแสน้ำก็เปลี่ยนไป แล้วผลกระทบก็ตามมาทันทีทันใด คือเกิดการกัดเซาะดังที่เห็นในรูป
       
       เหตุการณ์ที่ผมได้เล่ามาแล้ว มีอยู่เกือบตลอดชายฝั่งอ่าวไทย เริ่มต้นจากการก่อสร้างคอนกรีตที่แข็งตัวเพื่อจะแก้ปัญหาการเคลื่อนตัวของทรายมาถมปากทางระบายน้ำ แล้วตามด้วยการก่อสร้างเพื่อกันการกัดเซาะ ทั้งหมดนี้ไม่ทราบว่าใช้งบประมาณกี่พันล้านบาทเข้าไปแล้ว แต่ความเสียหายกลับขยายวงออกไปเรื่อย


       
       ผู้มีประสบการณ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า การก่อสร้างที่ถมลงไปในน้ำ ผู้รับเหมาจะชอบมากเพราะตรวจสอบได้ยาก ผมไม่ได้มองโลกในแง่ร้าย แต่ผมเชื่อว่านักการเมืองก็คงชอบด้วยเหมือนกัน
       
       โดยสรุปเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องใหญ่มากทั้งในมิติเรื่องกฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่หลายท่านยังเข้าใจผิด และในมิติของการคอร์รัปชันที่สังคมไทยยังคลำทางไม่ถูกว่าจะแก้อย่างไร ผมไม่เห็นพรรคใดสนใจเรื่องนี้เลย สมแล้วครับที่เราต้องโหวตโน เพื่อสั่งสอนครั้งใหญ่...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:

 ประสาท มีแต้ม
www.manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น